กระบวนการยุติธรรมสมัยพุทธกาล คดีที่พระพุทธเจ้าถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร (ตอนที่ 5 (ตอนจบ))



กระบวนการยุติธรรมสมัยพุทธกาล
คดีที่พระพุทธเจ้าถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร 



ตอนที่ 5 (ตอนจบ)

"ล้างมลทิน"

เมื่อสืบสวนคดีจบลงอย่างสมบูรณ์ ไม่มีจุดที่น่าสงสัยอีกแล้ว... 

พระราชาจึงได้สั่งให้พวกเดียรถีร์ไปป่าวประกาศแก้ไขข่าวที่ตนกระจายไปก่อนหน้านั้นเสียใหม่ 

โดยคราวนี้ให้ประกาศความจริงของแผนการณ์ทั้งหมดที่พวกตนได้ทำเพื่อใส่ร้ายพระพุทธเจ้าให้ชาวเมืองสาวัตถีได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทำให้ชาวเมืองที่เข้าใจผิดในตอนแรก ได้ทราบความจริง จึงเลิกด่าพระพุทธเจ้าและพระสาวกไปในที่สุด

เมื่อได้กระจายข่าวตามที่พระราชารับสั่งแล้ว ทั้งเดียรถีย์และนักเลง ทั้งผู้จ้างวาน และฆาตกรผู้รับค่าจ้างก็ไปรับโทษคดีฆ่าคนตายตามกฏหมายเป็นลำดับต่อไปเฉกเช่นเดียวกัน ตรงกับพระดำรัสของพระพุทธองค์ที่ว่า

"ผู้กล่าวคำเท็จ (กล่าวใส่ร้ายผู้อื่น ด้วยเรื่องเท็จ) ย่อมตกนรก แม้ใครที่ทำ (ความผิด) แต่กล่าวว่า ไม่ได้ทำ มนุษย์ทั้งสองพวกนั้น ผู้มีกรรมอันทราม ละโลกไป จะได้เป็นอยู่เสมอกัน (ตกนรกเหมือนกัน)"
คดีฆาตกรรมนางสุนทรีลงจึงเป็นอันปิดฉากในที่สุด โดยสามารถจับกุมฆาตกร และผู้จ้างวานได้ ผิดไปจากแผนการเดิมที่หวังจะยัดคดีให้พระพุทธเจ้าและพระสาวกเป็นผู้กระทำความผิดไป

เพราะได้ผู้ตัดสินคดีที่ยุติธรรม และทีมสืบสวนที่ทำงานอย่างถูกต้องตามกระบวนการ 

ทำให้แผนการชั่วร้ายของเหล่าเดียรถีร์ถูกเปิดโปง พระพุทธเจ้าจึงทรงผ่านพ้นจากเหตุการณ์ใส่ร้ายที่รุนแรงคราวนี้ไปได้ พระพุทธศาสนารอดพ้นจากการถูกทำลาย และกลับเฟื่องฟูเจริญยิ่งกว่าเดิมด้วยประการฉะนี้

--------------------------------------

สรุป

ผู้ตัดสินคดีมีความเที่ยงธรรม ย่อมดำเนินการสืบสวนอย่างเป็นธรรม ซึ่งกระบวนการนี้จำต้องร่วมมือกับฝ่ายทีมสืบสวนคดี 

หากทีมสืบสวนยึดมั่นความถูกต้อง สืบสวนตามขั้นตอน ไม่อำพรางคดี หรือหาเหตุยัดข้อหา ก็ย่อมสามารถจะนำเสนอข้อมูลความจริงของรูปคดีให้แก่ผู้ตัดสินคดีได้อย่างถูกต้อง 

ทำให้ผู้ตัดสินคดีสามารถวินิจฉัยคดีโดยไม่ผิดพลาด สามารถตัดสินคนผิดว่าผิด ผู้บริสุทธิ์ว่าบริสุทธิ์ได้ตรงตามความเป็นจริง

ในเบื้องต้นเดียรถีร์มาขอค้นดูพระเชตวันด้วยเหตุอันควร พระราชาก็ทรงอนุญาต และยามเมื่อเกิดคดี ก็ทรงสืบสวนให้ชัดเจนก่อน ไม่รีบร้อนตัดสินคดีโดยไม่สืบสวนก่อน และเมื่อได้ตัวผู้กระทำความผิดจริงก็ทรงลงอาชญาตามกฏหมายไม่มีละเว้น 

เป็นแบบอย่างของผู้ตัดสินคดีโดยธรรมที่สืบสวนหาหลักฐานพยานก่อนจะตัดสินว่ามีความผิด ไม่มีการยัดข้อหาเพิ่มเติม หรือเร่งรัดดำเนินคดีโดยข้ามขั้นตอนการสอบสวนที่ถูกต้องไป

ได้แต่หวังว่า ผู้ตัดสินคดีและทีมสืบสวนในยุคปัจจุบันจะยึดมั่นความถูกต้องเช่นนี้บ้าง 

เพราะผู้ที่จะทำให้กฏหมายเป็นดาบปราบภัยร้ายในสังคม 

หรือทำให้เป็นดาบที่หันมาเชือดเฉือนผู้บริสุทธิ์

ก็คือบุคคลทั้งสองฝ่ายนี้เอง.


อ้างอิงเค้าโครงมาจากเรื่องสุนทรีปริพาชิกา พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ 25 หน้า 246 และธรรมบทบาลี ภาคที่ 7 หน้า 119

Cr. ปธ.ก้าวไปข้างหน้า
กระบวนการยุติธรรมสมัยพุทธกาล คดีที่พระพุทธเจ้าถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร (ตอนที่ 5 (ตอนจบ)) กระบวนการยุติธรรมสมัยพุทธกาล คดีที่พระพุทธเจ้าถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร (ตอนที่ 5 (ตอนจบ)) Reviewed by bombom55 on 06:36 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.