ผ่าหลวงปู่พุทธะอิสระ ตอนที่ 4 รื้อฟื้นอธิกรณ์
ผ่าหลวงปู่พุทธะอิสระ
ตอนที่ 4 รื้อฟื้นอธิกรณ์
เพื่อไม่ให้เยิ่นเย้อ ผมขอเริ่มเรื่องเลยนะครับ
ความพยายามรื้อฟื้นอธิกรณ์ของปู่ดูจะดุเดือดเลือดพล่านมาก ๆ มีความมุ่งมั่นตั้งใจ พุ่งชนกับทุกคน ทุกกลุ่ม ไม่ว่าหน้าไหน จะเป็นพระหรือฆราวาส ปู่ฟาดฟันอย่างไม่เกรงกลัว ด้วยเหตุที่ปู่พร่ำบอกเสมอมา ว่าเพื่อรักษาพระธรรมวินัย ให้สงฆ์อยู่กับร่องกับรอย จึงต้องปฏิรูปการคณะสงฆ์เสียใหม่ มองเผิน ๆ ปู่คล้ายจะเป็นฮีโร่นะครับ
ผมตะขิดตะขวงใจและคลางแคลงใจเกี่ยวกับปู่อยู่หลายเรื่อง เป็นต้นว่า คนแบบนี้คือคนที่รักพระพุทธศาสนา เคารพพระธรรมวินัย พร้อมจะต่อสู้กับคณะสงฆ์ 3 แสนเพื่อความถูกต้องจริง ๆ หรือ ?
ยกตัวอย่างให้ดูสัก 3-4 เรื่องก็แล้วกัน (คงพอนะครับ เดี๋ยวจะยาวเกิน)
>>> 1. ประวัติชีวิตของปู่ - ปู่แกบวชมา 3 ครั้งแล้วครับ ครั้งแรกบวชสั้นแค่ปีเดียวก็ไปเป็นทหารอยู่ 2 ปี แล้วกลับมาบวชครั้งที่ 2 อีก
จนปี 2538 อายุได้ 35 ปี พรรษาที่ 11 ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม
ปี 2542 (อีก 4 ปีต่อมา) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลห้วยขวาง อายุ 44 ปี พรรษาที่ 21
ปี 2544 มีผู้ร้องเรียนให้สอบปู่เรื่องโกงอายุพรรษา ว่าแค่ 4 ปี ทำไมอายุจาก 35 จึงป็น 44 ได้ (ต้องเป็น 39 ปี) และอายุพรรษา จาก 11 ทำไมเป็น 21 ได้ (ต้องเป็น 15)
เมื่อถูกกดดันมากเข้า ปู่จึงลาสิกขาและบวชใหม่เป็นครั้งที่ 3 ในวันและปีเดียวกันนั้นเอง
ผมไม่รู้หรอกว่าการโกงอายุให้แก่ขึ้น 5 ปี พรรษาเพิ่ม 6 พรรษา มีผลอะไร แต่เจ้าคณะจังหวัดบอกว่าเป็นความผิดพลาดทางเอกสาร ซึ่งปู่น่าจะรู้นะว่าเอกสารมันผิด เพราะใบตราตั้งมันอยู่กับปู่มาตั้ง 2 ปี (2542 - 2544) ปู่น่าจะมีโอกาสอ่าน แล้วควรทักท้วงไป แต่ก็ไม่ รอจนเป็นข่าว ปู่ถึงแก้ปัญหาด้วยการสึกแล้วบวชใหม่อีกที
ปู่ให้สัมภาษณ์กับนายสนธิ ลิ้มทองกุล (นี่ก็เป็นลูกศิษย์ปู่) ถึงเหตุที่สึกว่า เพราะอยากจะลดอหังการ มมังการ มานะทิฐิ ความเป็นตัวเป็นตนซึ่งเป็นอุปกิเลสในตัว (ตรงนี้อ่านผ่าน ๆ ไป ไม่ต้องเข้าใจก็ได้ครับ) หรือพูดง่าย ๆ คืออยากลดอีโก้ลงนั่นเอง ปู่ว่าเป็นพระเถระต้องมีคนไหว้ แต่ปู่อยากไหว้พระบ้าง ไม่อยากให้ใครมาไหว้ตัวเอง
ปู่ไม่อยากได้ยศฐาบรรดาศักดิ์ ปู่ตั้งกฎในวัดว่าห้ามพระรับยศหรือฉลองพัดยศ ซึ่งปู่บอกว่าเมื่อเราเป็นคนตั้งกฎขึ้นมา เราจะมาเป็นผู้ทำลายเองไม่ได้ แต่เพราะเจ้าคณะจังหวัดท่านร้องขอ สุดท้ายปู่ก็จำเป็นต้องทำลายกฎนั้น (เอ๊ะ ยังไง ?)
สรุปว่าปู่บวชครั้งที่ 2 ได้ 15 พรรษา ก็เกิดอยากไหว้พระอื่นบ้าง รวมทั้งอยากลดกิเลสในตัว จึงสึก
ตอนนี้ปี 2560 ปู่มีพรรษาได้ 15 อีกครั้งแล้วครับ ไม่รู้ยังอยากทำแบบเดิมอีกไหม ?
ปู่เคยพูดกับลูกศิษย์ลูกหาที่นิมนต์ปู่ออกมาจากถ้ำ ก่อนจะมาสร้างวัดว่า "พวกคุณสามารถทนรับกับปัญหา แรงกดดันของสังคมได้หรือไม่ "พวกคุณรับสภาพได้ไหม" ทุกคนก็บอกว่ารับสภาพได้ ฉันก็บอกว่า "มันเหนื่อยนะ ถ้าจะให้ฉันออกมาทำงาน ก็ต้องมีผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมแก่คนทั้งหลาย"
ปู่ยังให้สัมภาษณ์อีกว่า "แต่เรื่องเสียหายที่ออกไปสู่สื่อสารมวลชน ว่าอาตมาโกงอายุพรรษา เพราะว่ามีบุคคลที่เขาได้รับผลกระทบในการทำงานของเราแล้วเขาไม่พอใจ ก็หาเหตุปัจจัยมาสร้างเรื่อง มันก็เป็นเรื่องน่าอายเหมือนกัน เราสีเดียวกัน พวกเดียวกัน อยู่ในพระศาสนาเหมือนกัน ก็ยังมาทะเลาะวิวาทบาดหมางกัน เอาเรื่องส่วนตัวมาทำให้ส่วนรวมเสียหาย ไม่คำนึงถึงสถานภาพของศาสนาในสังคม ว่าจะต้องอยู่ร่วมกันเป็นปึกแผ่นกันได้อย่างไร สังคมเราจึงเป็นเสียอย่างนี้ ไม่ต้องมาพูดหรอกว่าใครจะมาทำลายเรา พวกเรากันเองนี่แหละที่ทำลายกันเอง หาเหตุปัจจัยขึ้นมา เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หยุมหยิมนิดเดียวก็เอามายัดเยียดให้เป็นข้อหาใหญ่โต"
วินาทีนี้ ผมอยากส่งสิ่งที่ปู่เคยพูดไว้นี่กลับไปให้ปู่อ่านเหลือเกิน
ที่เล่ามาซะยาว เพราะผมเพียงอยากจะบอกว่า "ปู่เป็นคนไม่น่าไว้วางใจ" ครับ
เอกสารผิด ก็ยอมรับว่าผิด มันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ให้เขาแก้ไขใหม่ก็จบ แต่ปู่ดันแก้ปัญหาด้วยการสึก ผมรู้สึกว่าปู่ไม่ได้รักชีวิตพระจริง ๆ เท่าไหร่ เรื่องแค่นี้ปู่ยังทนแรงกดดันอย่างที่เคยพูดกับลูกศิษย์ไม่ได้ ป่วยการจะมาปกป้องพระธรรมวินัยนะครับ
>>> 2. เป็นแกนนำม็อบ (รู้กันทั้งประเทศนะครับ ไม่ต้องขยายความ) ทำความเดือดร้อนให้ประเทศชาติและประชาชน ยุยงให้ผู้คนทะเลาะกัน เป็นผู้ต้องหาคดีกบฏ ทำผิดกฎหมายจนสำนักงานพระพุทธศาสนาประกาศว่าทำผิดพระธรรมวินัยของ มส. จับได้เมื่อไหร่สึกได้ทันที ซึ่งจนเดี๋ยวนี้ก็ไม่มีใครทำอะไรปู่ เรื่องยังคงค้างไว้ แบบเดียวกับที่ปู่โวยวายธรรมกายเขานั่นแหละ
>>> 3. ปู่บอกว่า "ถ้าสึกพระธัมมชโยไม่ได้ ปู่จะสึกเอง" ปู่เป็นพระแบบไหน ถึงเอาชีวิตความเป็นนักบวช ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ มาใช้วางเดิมพันเหมือนเล่นการพนัน หรือเห็นเป็นของเล่นยังงั้นละครับ ดูแล้วปู่ไม่ได้รักชีวิตพระเท่าไหร่หรอก ปู่ไม่แคร์ด้วยซ้ำไปถึงพูดแบบนี้ออกมาได้น่ะ
ตรงข้ามกับคลิปของพระธัมมชโย ที่ประกาศว่า "จะจับสึกคงไม่ยอมให้สึก ยอมตาย จะตายในผ้าเหลือง" ผมว่าแบบนี้สิ คือรักเพศสมณะจริง คือฉันจะเป็นพระไปจนวันตายไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม
ฟังแล้วก็รู้ ว่าปู่ยังห่างชั้นอีกมาก ปู่จึงเป็นคนที่ไม่น่าไว้วางใจให้ปกป้องพระธรรมวินัยจริง ๆ
>>> 4. ปู่พร่ำพูดแต่เรื่องพระธรรมวินัย แต่กลับไม่รู้ว่าตัวเองนั่นแหละที่ทำผิดธรรมวินัยซ้ำซาก
อย่างเรื่องการฟื้นอธิกรณ์กรณีโจทพระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิก ปู่ไม่รู้หรือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้ในหมู่สงฆ์ ไม่ใช่ออกมาโพนทนาให้สื่อหรือให้ฆราวาสฟังอย่างที่ทำอยู่ มันเรื่องของพระทั้งนั้นไม่ใช่เรื่องของโยม เขาถึงเรียกว่าอธิกรณ์ไง ไม่ใช่คดีความ
คราวนี้เมื่อพูดใส่ความพระว่าต้องอาบัติปาราชิกโดยไม่มีมูลความจริง ปู่จะต้องอาบัติสังฆาทิเสส (ไม่รู้ความหมายไม่เป็นไรครับ เอาว่าทำแล้วมีความผิดละกัน)
นอกจากนั้นปู่ออกรายการพูดเรื่องอาบัติหนักของพระ (ปาราชิก) ให้ผู้ที่ไม่ใช่พระฟัง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ ปู่ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์ไปแล้ว
ปู่ทำผิดเสียเองขนาดนี้ ยังจะมีหน้ามาปกป้องธรรมวินัยอีกรึ !!
ยกตัวอย่างเท่านี้ก่อนนะครับ จะได้ไม่ยาวเกิน (หรือเกินแล้ว 555)
สรุปว่าผมไม่เคยเชื่อเลยว่าคนอย่างปู่จะเป็นผู้ดำรงรักษาพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าไว้ได้ครับ
>>> มาครับ ได้เวลาเข้าเรื่องรื้ออธิกรณ์ได้ไม่ได้กันแล้วทีนี้ <<<
ปู่ยกสิกขาบทมายืนยันว่าโดยวินัยแล้วสามารถรื้อได้ไม่ผิด โดยพูดถึงสิกขาบทว่า (ถ้าอ่านไม่เข้าใจยังไม่ตัองกังวลนะครับ จะค่อย ๆ เล่าให้ฟัง)
"อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ฟื้นอธิกรณ์ที่ทำเสร็จแล้วตามธรรม เพื่อทำอีก เป็นปาจิตตีย์
แต่พอเปิดไปอีกหน้า บทภาชนีย์ (บทที่ขยายความให้รายละเอียดเพิ่มเติม)
อธิกรณ์ใดที่เป็นธรรม (ทำถูกต้อง) ภิกษุใดสำคัญว่าไม่เป็นธรรม รื้อฟื้นไม่ต้องอาบัติ"
อธิกรณ์ใดที่ไม่เป็นธรรม (ทำไม่ถูกต้อง) ภิกษุสำคัญว่าไม่เป็นธรรม รื้อฟื้นก็ไม่ต้องอาบัติ"
นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน เพราะฉะนั้นที่เขาบอกว่ารื้อฟื้นแล้วเป็นอาบัติน่ะ เพราะเขาดูหน้าเดียว อ่านหนังสือหน้าเดียว โบราณเขาว่า เถรฯใบลานเดียว"
คงต้องเริ่มเล่าให้พอเข้าใจถึงสิกขาบทนี้ซะก่อน จะได้ทราบว่าเรื่องเกิดอย่างไร พระองค์บัญญัติสิกขาบทเพื่ออะไร แล้วค่อยไปเจาะรายละเอียดกันอีกทีครับ
ในสมัยพุทธกาลมีอธิกรณ์เรื่องหนึ่งเกิดขึ้น สงฆ์จึงจัดการระงับอธิกรณ์นั้นตามวิธีที่พระพุทธเจ้ากำหนดไว้จนเสร็จเรียบร้อย แต่มีพระเกเรกลุ่มหนึ่งในสมัยนั้น เรียกว่าพวก "ฉัพพัคคีย์" (กลุ่มพระ 6 รูป ซึ่งมักก่อเรื่องเสียหายให้พระพุทธเจ้าต้องทรงบัญญัติสิกขาบทหลายข้อ) ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าอธิกรณ์นั้นระงับถูกต้องแล้ว แต่แกทำเป็นไม่สนใจ จะเรียกว่าหาเรื่องเกะกะระรานก็คงจะได้ละมังครับ แกจึงพูดโวยวายเพื่อจะให้รื้อฟื้นอธิกรณ์มาทำใหม่ว่า "อธิกรณ์ที่ทำไปนั้นถือว่ายังไม่ได้ทำ ยังทำไม่ดี ต้องทำใหม่ อธิกรณ์นั้นยังไม่เสร็จ ยังทำเสร็จไม่ดี ต้องมาทำให้เสร็จใหม่"
พระดี ๆ ท่านก็ตำหนิคนจะรื้อ จนเรื่องไปถึงพระพุทธเจ้า พระองค์เรียกฉัพพัคคีย์มาถามว่าจริงหรือไม่ ที่เธอก็รู้อยู่ว่าอธิกรณ์มันถูกระงับถูกต้องดีแล้ว แต่ก็ยังคิดจะรื้อฟื้นอีก พอฉัพพัคคีย์รับว่าจริงอย่างนั้น พระองค์จึงทรงตำหนิ และบัญญัติสิกขาบทว่า ใครรื้ออธิกรณ์ที่ทำถูกต้องแล้วขึ้นมาใหม่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ แบบที่ปู่พูดถึงข้างบน
ถ้าถามผมว่าพระองค์ห้ามรื้อเพราะอะไร ?
ผมคิดว่า คงเพื่อป้องกันพระเกเรไม่ให้ก่อเรื่องวุ่นวายในสงฆ์นั่นเอง ไม่อย่างนั้นพวกนี้ก็จะคอยสร้างเรื่องไม่รู้จักจบจักสิ้น พระดี ๆ ก็ลำบาก ต้องมารำคาญกับพระพวกนี้
คราวนี้ถามว่าจะพิจารณาตรงไหน ถึงจะสรุปได้ว่าต้องอาบัติหรือยัง ?
ก็ต้องดูองค์ประกอบ 3 เรื่องด้วยกันนะครับ คือ
1. การระงับอธิกรณ์นั้นทำถูกต้องตามที่พระองค์กำหนดหรือเปล่า (กรรมเป็นธรรม)
2. ภิกษุที่จะรื้อ "รู้" ใช่ไหม ว่าอธิกรณ์นั้นเขาทำถูกแล้ว
3. ภิกษุที่รู้นั้น พูดขึ้นว่า "อธิกรณ์ที่ทำไปนั้นถือว่ายังไม่ได้ทำ ยังทำไม่ดี ต้องทำใหม่ อธิกรณ์นั้นยังไม่เสร็จ ยังทำเสร็จไม่ดี ต้องมาทำให้เสร็จใหม่"
แค่พูดนะครับ ยังไม่ต้องถึงกับดำเนินการอะไร ครบ 3 องค์ประกอบนี้เมื่อไหร่ พระที่พูดนั้นจะต้องอาบัติปาจิตตีย์ทันที
ทีนี้สิกขาบทที่พระพุทธเจ้าวางไว้ เทียบแล้วก็เหมือนกฎหมายมาตราต่าง ๆ ในทางบ้านเมือง ก็ต้องมีรายละเอียด เช่น เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้คืออะไร คำแต่ละคำมีความหมายขอบเขตแค่ไหน ก็จะต้องขยายให้รายละเอียดเพื่อจะได้ไม่สับสน (แต่เอาเข้าจริงก็มีให้สับสนจนได้แหละครับ เหมือนทางโลกยังต้องมีการตีความกันเลย)
อย่างสิกขาบทนี้ ตามคัมภีร์จะแบ่งออกเป็น 5 ส่วนด้วยกัน คือ
ความเป็นมาของเรื่อง ว่าเกิดอะไรขึ้นจึงนำไปสู่การบัญญัติสิกขาบท
ทรงตำหนิคนก่อเรื่อง และปรับความผิด โดยการบัญญัติสิกขาบทขึ้นมา
นิยามคำจำกัดความของคำสำคัญในสิกขาบท จะได้เข้าใจรงกันว่าหมายถึงอะไร เช่นคำว่า "ฟื้น...เพื่อทำอีก" หมายถึง การพูดว่า "อธิกรณ์ที่ทำไปนั้นถือว่ายังไม่ได้ทำ ฯ" แบบที่ฉัพพัคคีย์พูดนั่นแหละครับ เป็นต้น
ขยายความ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมในข้อปลีกย่อยอื่น ๆ ที่เรียกว่า "บทภาชนีย์" ตามที่ปู่อ้างว่า พระพุทธเจ้าให้รื้อฟื้นได้ ไม่ต้องอาบัติ
ข้อยกเว้นว่า ใครบ้างที่ทำแล้วไม่ผิด
คราวนี้ก็ต้องเอาจากทั้ง 5 ส่วนมาประมวลกัน จึงจะตัดสินได้ว่าพระผู้รื้ออธิกรณ์จะผิดหรือไม่ผิดอย่างไร
ซึ่งจากสิกขาบทชี้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดมี 2 เรื่อง คือ
อธิกรณ์นั้นทำถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง (สำคัญที่สุด)
คนจะรื้อ "รู้" ไหมว่าอธิกรณ์นั้นทำถูกหรือไม่ถูก (สูดหายใจลึก ๆ อ่านช้า ๆ ครับ 555)
คำว่า "รู้" คือต้องรู้ชัดเลยนะครับ แบบรู้แน่แก่ใจ ไม่ว่าจะรู้เอง หรือใครมาเล่าให้ฟังอีกต่อหนึ่ง ก็ถือว่ารู้แล้ว จะมาโมเมว่าไม่รู้ไม่ได้
ทีนี้บทภาชนีย์ที่ปู่อ้างมาน่ะ คัมภีร์ไม่ได้ใช้คำว่า "รู้" หรือ "ไม่รู้" นะครับ ท่านใช้คำว่า "สำคัญว่า" ต่างหาก
คำนี้คล้ายกับที่เราพูดว่า "สำคัญผิด" ซึ่งมันหมายถึง "คิดไปว่า" "ทึกทักว่า" "เดาว่า" "คาดคะเนว่า" ทำนองนี้ครับ ก็คือ ไม่รู้จริง ๆ ได้ได้ตั้งใจนะ
พระประเภทที่ไม่รู้นี่แหละครับ ที่พระองค์ยกประโยชน์ให้ว่าไม่ต้องอาบัติ
เพราะบทภาชนีย์ที่ปู่อ่านมันแค่ 2 บรรทัด ยังมีอีก 4 บรรทัดที่ปู่ไม่ได้อ่านให้ฟัง คือ
กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมเป็นธรรม ฟื้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กรรมเป็นธรรม ภิกษุมีความสงสัย ฟื้น ต้องอาบัติทุกกฏ
(ที่ปู่อ่าน) กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมไม่เป็นธรรม ฟื้น ไม่ต้องอาบัติ
กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมเป็นธรรม ฟื้น ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุมีความสงสัย ฟื้น ต้องอาบัติทุกกฏ
(ที่ปู่อ่าน) กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมไม่เป็นธรรม ฟื้น ไม่ต้องอาบัติ
เราจะเห็นว่า พระองค์มุ่งยกประโยชน์ให้ "คนที่ไม่รู้จริง ๆ เท่านั้น" คือไม่เจตนาจะแกล้งรื้อ
จาก 4 บรรทัดที่ปู่ไม่ได้อ่านนั้น จะเห็นว่า ไม่ว่าอธิกรณ์จะทำถูกหรือไม่ถูกก็ตาม (เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม) ถ้าลองคุณคิดทึกทักด้นเดาเข้าใจไปว่ามันถูก หรือเพียงแค่สงสัยว่า เอ...มันทำถูกไหมนะ หรือไม่ถูกกันแน่ แล้วไปรื้อ ก็ต้องอาบัติแล้วครับ
ความ "รู้" หรือ "ไม่รู้" จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆๆๆๆ
ดังนั้นเราจึงเห็นข้อความในส่วนที่ (5) ใครบ้างที่ทำแล้วไม่ผิด (ซึ่งปู่ไม่ได้อ่านให้ฟัง) บอกว่า "ภิกษุรู้อยู่ว่า ทำกรรมโดยไม่เป็นธรรม โดยเป็นวรรค หรือทำแก่บุคคลผู้ไม่ควรแก่กรรม ดังนี้ ฟื้น ไม่ต้องอาบัติ"
เห็นไหมครับว่าเฉพาะพระที่ "รู้" แน่แก่ใจโดยไม่ต้องสงสัยกันละ ว่าที่ทำไปไม่ถูกจริง ๆ ไม่ถูกตรงไหนก็รู้ จึงจะรื้อได้ นอกไปจากนี้หมดสิทธิ์...อ้อ พระที่รื้อเพราะวิกลจริตพระองค์ก็ยกโทษให้ด้วยครับ (จริง ๆ นะ ไม่ได้เหน็บปู่แก)
ถ้าแบบที่ปู่อ้างมาถูกนะครับ ในสิกขาบทก็ควรจะบอกเอาไว้ด้วยเลยว่า ยกเว้นพวก "สำคัญว่า" อีกกรณีหนึ่ง เช่น
"อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ฟื้นอธิกรณ์ที่ทำเสร็จแล้วตามธรรม เพื่อทำอีก เป็นปาจิตตีย์ เว้นแต่สำคัญว่า...อะไรก็ว่าไป"
นอกจากนี้ ในส่วนที่ (5) ก็ต้องมีบอกแบบนี้ด้วยครับว่า "ภิกษุสำคัญว่า..." ก็ไม่ผิด แต่มันไม่มีครับ บทภาชนีย์จึงขยายให้รายละเอียดให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น ว่าไม่ถือสาหาความกับคนไม่รู้จริง ๆ
>>>จึงมาถึงจุดตัดสินแล้วครับว่าตกลงปู่จะรื้อได้ไหม<<<
ก็ต้องถาม 2 ข้อครับว่า
อธิกรณ์ของพระธัมมชโยระงับเสร็จถูกต้องหรือไม่ ?
ตอบได้ว่าระงับเสร็จไปแล้วครับ และถูกต้องตามธรรมวินัย (รวมกฎ มส. เข้าไปด้วย) ตั้งแต่ศาลสงฆ์ชุดพระพรหมโมลีในครั้งที่ 1 แล้ว
ถ้าไม่ชัวร์ ก็ย้ำอีกทีว่า ระงับเสร็จและถูกต้องในศาลสงฆ์ชุดที่ 2 สมัยพระธรรมโมลีด้วยเหมือนกัน ตามมติ มส.
ความจริงตรงนี้ไม่อยากพูดถึง แต่ต้องเอาซะหน่อย ไม่งั้นคาใจผม คือ พระพรหมโมลีท่านยืนยันขนาดให้ มส.บันทึกท้ายมติ หลังจากเจ้าคณะหนให้ฟื้นอธิกรณ์ที่ท่านทำเสร็จแล้วมาทำใหม่ว่า "ท่านไม่เห็นด้วยกับมติของ มส."
นี่คือยืนยันว่าท่านรู้ว่าระงับอธิกรณ์ถูกต้องแล้ว ไม่มี "สำคัญว่า" หรือ "สงสัยว่า" ในใจท่านอีก ดังนั้นถ้าท่านเห็นด้วยกับมตินั้น ท่านจะต้องอาบัติทันที
ผมขอกราบหลวงพ่อพรหมโมลีตรงนี้เลยครับ ว่าท่านเป็นพระที่สุดยอดจริง ๆ
เพราะอะไร ?
เพราะตามประวัติ ท่านไม่เคยรู้จักหรือเกี่ยวข้องกับวัดธรรมกายมาก่อน การไปหาพระธัมมชโยถึงวัดเป็นการไปครั้งแรกของท่าน อาจารย์แสวง อุดมศรี เล่าว่า ครั้งนั้นวัดธรรมกายต้อนรับท่านด้วยน้ำ 1 แก้ว ผ้าเย็น 1 ผืนแค่นั้นเอง
ในเวลานั้น เป็นที่รู้กันว่ากระแสสังคมและแรงกดดันสูงมาก ใครเข้าข้างวัดธรรมกายหรือพระธัมมชโย จะถูกหาว่าช่วยเหลือคนผิดทันที แต่พระพรหมโมลีไม่ได้มีส่วนได้ประโยชน์อะไรจากวัด ท่านก็รู้ว่าจะถูกกระแสกดดันอย่างไร แต่พระธรรมวินัยสำคัญกว่าอะไรทั้งสิ้น ถ้าแค่ท่านยอมทำตามมติไป ตัดสินว่าพระธัมมชโยปาราชิก ท่านก็คงจะสบายตัว แต่คงไม่สบายใจไปตลอดชีวิต ท่านจึงเลือกธรรมวินัย ใครอยากจะปลดจะอะไรก็เชิญ
จะมีพระผู้ใหญ่ที่ไหน ยอมเอาตำแหน่งของตัวเองมาแลกกับการปกป้องพระธัมมชโยที่สังคมตัดสินว่าผิดไปแล้ว เว้นเสียแต่จะเห็นว่าไม่ได้ผิดจริง ๆ
นี่คือพระแท้ผู้เที่ยงธรรม...ผมขอกราบท่านงาม ๆ อีก 3 ครั้งนะครับ
ใครที่สงสัยในการวินิจฉัยของพระพรหมโมลี กรุณาไปอ่านประวัติของท่านดูครับ แล้วจะรู้ว่าท่านเป็นนักปราชญ์บัณฑิตขนาดไหน เชื่อท่านได้ครับว่าไม่วินิจฉัยมั่วแน่นอน
ส่วน มส.ที่ลงมติให้รื้ออธิกรณ์ขึ้นมาทำใหม่ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย 4 คน มี นายมีชัย ฤชุพันธ์, นายจรวย หนูคง, นายไพบูลย์ เสียงก้อง, นายประนัย วณิชชานนท์ มาให้ความเห็นว่าคฤหัสถ์กล่าวหาพระได้หรือไม่
นี่แสดงว่า มส. เองก็ไม่แน่ใจ คือยังสงสัย หรือมีความ "สำคัญว่า" อยู่ด้วย จึงเชิญคนนอกมาให้ความเห็น หลังจากสรุปว่ากล่าวหาได้ ผมไม่ทราบนะว่ามีกรรมการ มส. รูปไหนยังติดใจสงสัยอยู่หรือเปล่า ถ้ามีแล้วมีส่วนในการรื้ออธิกรณ์ขึ้นมา ท่านก็มีความผิดนะครับ
หรือแม้ไม่สงสัย แต่พระพรหมโมลีระงับอธิกรณ์ได้ถูกต้องตามธรรมวินัยแล้ว (เอากฎ มส.วางไว้ก่อนนะครับ) เพราะคณะของท่านเป็นผู้มีสิทธิ์อันชอบธรรมตามที่สงฆ์มอบหมาย ดังนั้นใครขืนมารื้อฟื้นก็มีความผิดทั้งนั้นครับ
>>>ทีนี้มาดูบทภาชนีย์ที่ปู่อ้าง คำถามคือ<<<
ปู่ "ไม่รู้" จริงไหม ? หรือปู่ "สำคัญว่า" จริง ๆ
ความจริงที่เห็น คือ ปู่ก็ได้ยินได้ฟังว่าอธิกรณ์มีการดำเนินการตั้งแต่ครั้งพระพรหมโมลีมาอย่างไร เมื่อรู้แล้วยังจะ "สำคัญว่า" อยู่อีก มันก็คงเกินไปแล้วมังครับ เรียกว่าดื้อตาใสเถอะ
โอเค สมมุติว่าปู่ไม่รู้จริง ๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าปู่มีสิทธิ์จะรื้อได้ เพราะสิ่งที่ปู่ต้องทำต่อไปคือไปดูอธิกรณ์นั้นว่าทำถูกต้องไหม หรือไปถามคนที่รู้ก็ได้ อย่ามาด้นเดาเอาเอง เมื่อมันถูก ปู่ก็ได้ชื่อว่า "รู้" แล้ว (หรือถ้ายังติดใจสงสัย) หากยังขืนรื้อขึ้นมาปู่ก็มีความผิดละครับ
พระวินัยปิฎก คัมภีร์ปริวาร พูดถึงพระที่จะรื้ออธิกรณ์แบบปู่ได้สะใจมากครับ
คืออธิกรณ์นี้เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 2542 โดยนายมาณพ พลไพรินทร์ ยื่นหนังสือกล่าวหาพระธัมมชโยและพระทัตตชีโว จากนั้นวันที่ 13 ส.ค. 2542 ศาลสงฆ์ชุดพระพรหมโมลีวินิจฉัยว่าฆราวาสไม่มีสิทธิ์กล่าวหา อธิกรณ์สิ้นสุดลง รื้อฟื้นไม่ได้
***ตอนปี 2542 ปู่เป็นเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย ปู่เล่าว่าพระสังฆราชเสด็จมาเล่าปัญหาที่เกิดขึ้นให้ฟัง 3 ครั้ง ก่อนทรงมีพระลิขิตฉบับสุดท้าย
แสดงว่าปู่รู้เรื่องอธิกรณ์ตั้งแต่ก่อนวันที่ 10 พ.ค. 2542 ซึ่งเป็นวันที่พระลิขิตออกมา
จากวันนั้น (ปี 2542) ถึงวันนี้ (ปี 2560) เวลาล่วงเลยมา 18 ปี
ปู่เพิ่งคิดที่จะรื้อฟื้นอธิกรณ์
สงฆ์ทั้งแผ่นดินก็จะถามปู่ตามแบบคัมภีร์ปริวารว่า
"ทำไมไม่พูดอย่างนี้เสียตั้งแต่ตอนนั้นเล่า ท่านไปอยู่ที่ไหนมาหรือ ?"
ปู่อย่าเอาแต่นั่งบื้อนะครับ...ตอบมา !!!
คมความคิด
ผ่าหลวงปู่พุทธะอิสระ ตอนที่ 4 รื้อฟื้นอธิกรณ์
Reviewed by bombom55
on
23:55
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: