การถวายทอง-เงิน แด่พระภิกษุและสามเณร บาปจริงหรือ?



การถวายทอง-เงิน 

แด่พระภิกษุและสามเณร บาปจริงหรือ?



เห็นข้อความในป้ายภาพบนแล้ว 
ชวนให้มาพิสูจน์

“หยุดถวายทอง-เงินทอง 
แด่พระภิกษุและสามเณร”


คำถาม...'โยม' นำทอง-เงิน ถวายแด่พระภิกษุและสามเณร บาปหรือไม่?

คำตอบ...ไม่บาป แม้ในพระไตรปิฎกเล่ม 3 ตามที่อ้างไว้ในภาพบนก็ตาม 

หมายความถึง...พระศาสดาทรงบัญญัติไว้ปรับอาบัติพระ ไม่เกี่ยวกับญาติโยม

และเมื่อทบทวนถึง...วัตถุทานต้องห้าม (มีผลบาป) มีอะไรบ้าง? 

พบว่ามี 5 อย่าง คือ ยาพิษ , อาวุธ , น้ำเมา , สัตว์มีชีวิตเพื่อฆ่า , เมถุน

➤ ดังนั้น...ทอง-เงิน...ไม่จัดเป็นวัตถุทานต้องห้ามแต่อย่างใด



คำถาม...'พระ' รับทอง-เงินจากโยมบาปหรือไม่?

คำตอบ...ดูที่เจตนา...

ขยายความตามพระวินัยจากป้ายภาพแรกที่เขียนว่า

อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง-เงิน หรือ ยินดี ทอง-เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ก็ดี เป็นนิสสัคคียปาจิตตีย์

มาเป็นบทสรุปตามพระวินัย โดย แสวง อุดมศรี ผู้เขียน 🔻






➤ ต้องไปศึกษาปฐมบัญญัติ...ทำให้เข้าใจเหตุที่พระศาสดาทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ยิ่งขึ้น กล่าวคือ...

๑. ป้องกันการตำหนิจากญาติโยม ว่าพระเป็นผู้มีความยินดีในการรับถวายกหาปณะ ซึ่งไม่ต่างจากโยม ทั้งยังครอบคลุมถึงการให้ผู้อื่นรับทอง-เงินแทนพระท่าน

๒. ป้องกันความลำเอียง การติดในลาภสักการะ ของพระภิกษุในภายหน้า จึงบัญญัติสิกขานี้เพื่อให้พระรู้จักสละ ไม่สะสมทรัพย์ โดยถ้าไม่สละให้เป็นของสงฆ์หลังจากรับทอง-เงิน พระรูปนั้นต้องอาบัตินิสสัคคียะตามพระวินัยนี้




'ภิกษุใดรับ หรือ ใช้ให้ผู้อื่นรับทองและเงิน หรือยินดีทองและเงินที่เขาเก็บไว้ให้ '


เป็นประโยคที่ชัดเจนกว่า เพราะแม้พระภิกษุรูปใดไม่รับถวายทอง-เงินจากโยมต่อหน้า แต่ให้ผู้อื่น (รวมถึงไวยาวัจกร) รับก็ตาม แล้วพระรูปนั้นย้อนมารับทอง-เงินคล้อยหลังโยมที่ถวายซึ่งได้เดินทางกลับไปแล้ว ก็ต้องอาบัติเช่นกัน

***ดังนั้น ใครจะมากล่าวว่าพระของตนนั้นไม่รับถวายทอง-เงินจากโยมโดยตรงนั้นเคร่งกว่า ศีลบริสุทธิ์กว่าพระที่รับถวาย คงไม่ถูกเสมอไป ฝากพิจารณาดูเจตนาของพระคุณเจ้าให้ถ่องแท้ด้วย

ส่วนจุดประสงค์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น เพื่อป้องกันมิให้สงฆ์นั้นเสื่อมเสีย สะสม ลำเอียง หรือ ติดในลาภสักการะ โดยกล่าวคุณสมบัติภิกษุผู้สละไว้ตามภาพกรอบล่าง 🔻




หลายท่านอาจให้ความเห็นว่า รูปแบบในปัจจุบัน ควรเป็นการนำเงินทำบุญไปมอบให้ไวยาวัจกรของวัดโดยตรง แล้วไวยาวัจกรเป็นผู้ออกใบปวารณาให้โยมนั้นไปถวายพระภิกษุ ซึ่งก็เห็นดีด้วย

แต่ในทางปฏิบัติของยุคนี้ คำถามที่ตามมาคือ จะมีไวยาวัจกรกี่ท่าน? ที่รัดกุมในเรื่องการรับเบิกจ่ายของในวัดฯ เป็นสิ่งที่น่าคิดเหมือนกัน

ประเด็นต่อมา...ครั้นเมื่อย้อนกลับไปดูข้อความในกรอบสีน้ำเงินของภาพล่าง 🔻


ที่ว่าโยมกับพระต้องบาปจนตกนรกขุมโรรุวะนั้น เขียนว่าอ้างอิงจาก

- สมเด็จพระวันรัต (แดง) วัดสุทัศน์ เป็นผู้แสดงธรรมเทศนา

- สมุดภาพไตรภูมิฉบับอยุธยา-ฉบับธนบุรี



ที่อ้างสมเด็จพระวันรัต (แดง) เทศน์...ค้นไม่พบธรรมเทศนานั้น อาจอยู่ในบันทึกจดหมายเหตุฯ หากใครพบธรรมเทศนานี้ รบกวนอนุเคราะห์ข้อมูลด้วย

อย่างไรก็ตามมีบันทึกว่า สมเด็จพระวันรัต รับติดกัณฑ์เทศน์จากรัชกาลที่ 5 เป็น 'แผ่นทอง' ตามรายละเอียดกรอบสีแดงในภาพ




ซึ่งสมเด็จพระวันรัต (แดง) ทรงประพฤติตามพระวินัยทุกประการ โดยรับถวายทองคำติดกัณฑ์เทศน์จากสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (ร.๕) แล้วสละทองคำ เป็นการเอื้อเฟื้อนำไปปิดทองพระศรีศากยะมุนีพระประธานในโบสถ์วัดสุทัศน์ฯ

➤ และจากรายละเอียดในภาพบนนั้น ติดกัณฑ์เทศน์ ในอดีต น่าจะมีนัยยะเดียวกับ ถวายซองปัจจัยบูชาธรรมเทศนา ในสมัยนี้

ส่วนที่อ้างสมุดภาพไตรภูมิฉบับอยุธยา-ฉบับธนบุรี ว่าด้วยนิสสัคคีย์ ต้องตกโรรุวนรก จึงขอนำภาพโรรุวนรกจากสมุดภาพดังกล่าวมาแสดงข้างล่าง 🔻




➤ ได้กล่าวถึงที่มาว่า เกิดจากวิบากผู้เจรจามุสาวาท รับเป็นพยานเท็จ ไม่ได้เกี่ยวข้องเรื่องการถวายทอง-เงินตามที่ภาพแรกกล่าวอ้างไว้แต่อย่างใด


สรุป...

๑. พระวินัยไม่ได้ห้ามโยมถวายทอง-เงิน 

ทานที่ให้มีผลดี เป็นข้อแรกของสัมมาทิฏฐิ (เว้นวัตถุทานต้องห้ามทั้ง5) 


๒. พระวินัยห้ามพระแสดงความยินดี (จนออกนอกหน้าเหมือนเป็นคฤหัสถ์) 

แม้โยมจะแสดงเจตจำนงที่จะถวายทอง-เงินก็ตาม 

รวมถึงแสดงความยินดีที่ให้ “ผู้อื่น” รับแทนพระด้วย 

**พึงรับด้วยจิตอนุเคราะห์ ด้วยความเคารพ ด้วยรักษาศรัทธา


๓. พระวินัยปกป้องพระที่สละทอง-เงินที่ได้มาเอื้อเฟื้อแก่สงฆ์


๔. เรื่องวิบากย่อมเป็นไปตามพุทธภาษิต หว่านพืชเช่นไร ให้ผลเช่นนั้น

***ดังโรรุวนรกเป็นที่รองรับผู้เจรจามุสาวาท ไม่ใช่จากผู้ถวายทอง-เงินกับพระ


Cr. I am W i S H


การถวายทอง-เงิน แด่พระภิกษุและสามเณร บาปจริงหรือ? การถวายทอง-เงิน  แด่พระภิกษุและสามเณร บาปจริงหรือ? Reviewed by bombom55 on 07:55 Rating: 5

10 ความคิดเห็น:

  1. 1. พระวินัยไม่ได้ห้ามโยมถวายทอง-เงิน
    ถูกต้อง แต่โยมที่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย ย่อมรู้ว่าอะไรควรถวาย และไม่ควรถวายพระภิกษุ วัตถุใดที่ไม่สมควรแก่พระภิกษุ มีวัตถุอนามาสเป็นต้น ก็ไม่พึงถวาย. เงินและทอง ก็ถือเป็นวัตถุอนามาส ไม่พึงถวาย. ผู้เขียนพึงศึกษาเรื่องวัตถุอนามาสนี้ให้จงดี.
    2. พระวินัยห้ามพระแสดงความยินดี (จนออกนอกหน้าเหมือนเป็นคฤหัสถ์)
    ยินดี กับ แสดงความยินดี นั้นไม่เหมือนกัน. ขอจงใช้คำให้ถูกต้องด้วยเถิด. อีกประการหนึ่ง การไม่ยินดี แต่ รับเงินหรือทองเอาไว้ ก็ต้องอาบัติเช่นกัน. การรับเงินและทอง แม้ด้วยจิตอนุเคราะห์ ด้วยความเคารพ ด้วยรักษาศรัทธา ก็ยังต้องอาบัติ เป็นการไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ. การที่พระภิกษุไม่รับเงินและทอง จึงเป็นการดีแล้ว เป็นการรักษาพระธรรมวินัยตามที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้.
    อนึ่ง พระวินัยมิได้ห้ามอะไร พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงห้าม เพียงแต่ทรงแนะนำ การเป็นอยู่ในเพศบรรพชิต และปรับอาบัติตามสมควรเท่านั้น ไม่มีสิกขาบทใด ใช้คำว่า "ห้าม" เลย ผู้ที่ศึกษาภาษาบาฬีมาจะเห็นอรรถเป็นอย่างดี.
    3. พระวินัยปกป้องพระที่สละทอง-เงินที่ได้มาเอื้อเฟื้อแก่สงฆ์
    ท่านแสดงวิธีการออกจากอาบัติ พูดง่าย ๆ คือวิธีการกระทำตนให้พ้นโทษ ไม่ใช่วิธีการปกป้องบุคคลผู้กระทำผิด.
    - ปิยสีลภิกขุ.

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. กราบขอบพระคุณในความเห็นครับ

      ลบ
    2. จะเป็นความเห็น หรือ เนื้อความตรงตามพระไตรปิฏก นิมนต์ศึกษาด้วยตนเองอย่างละเอียดนะครับผม ไม่ใช่เพียงว่า อ่านจากบทความที่ใครไม่รู้เขียน ท่านจะไม่ทราบเลยว่า เขาแทรกความเห็นที่ผิด ๆ ของตนเองเข้าไปหรือไม่

      ลบ
    3. เงินและทอง แม้เขาทำเป็นรูปพรรณทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นอนามาสและเป็นของไม่ควรรับไว้ จำเดิมแต่ยังเป็นแร่.

      ในอรรถกถา เตรสกัณฑ์ ว่าด้วย วัตถุอนามาส รัตนะทั้ง๑๐ นั้น
      เงิน คือ สินแร่ เช่นเดียวกับทอง ซึ่งไม่น่าจะครอบคลุมธนบัตร

      ลบ
  2. พระอุปนันทศากบุตร ผู้รับรูปิยะ ปฐมเหตุของพระวินัย
    “....ท่านพระอุปนันทศากยบุตร เป็นกุลุปกะของสกุลหนึ่ง รับภัตตาหารอยู่เป็นประจำ ของเคี้ยวของฉันอันใดที่เกิดขึ้นในสกุลนั้น.เขาย่อมแบ่งส่วนไว้ถวายท่านพระอุปนันทศากยบุตร. เย็นวันหนึ่งในสกุลนั้นมีเนื้อเกิดขึ้น เขาจึงแบ่งส่วนเนื้อนั้นไว้ถวายท่านพระอุปนันทศากยบุตร. เด็กของสกุลนั้นตื่นขึ้นในเวลาเช้ามืด ร้องอ้อนวอนว่า จงให้เนื้อแก่ข้าพเจ้า. บุรุษสามีจึงสั่งภรรยาว่า จงให้ส่วนของพระแก่เด็ก เราจักซื้อของอื่นถวายท่าน. ครั้นแล้วเวลาเช้าท่านอุปนันทศากยบุตร นุ่งอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปสู่สกุลนั้น แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย.
    ทันใด บุรุษนั้นเข้าไปหาท่านพระอุปนันทศากยบุตร กราบแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง,ได้กราบเรียนว่า ท่านเจ้าข้า เมื่อเย็นวานนี้มีเนื้อเกิดขึ้น, ผมได้เก็บไว้ถวายพระคุณเจ้าส่วนหนึ่ง,จากนั้นเด็กคนนี้ตื่นขึ้นแต่เช้ามืดร้องอ้อนวอนว่า จงให้เนื้อแก่ข้าพเจ้า ผมจึงได้ให้เนื้อส่วนของพระคุณเจ้าแก่เด็ก, พระคุณเจ้าจะให้ผมจัดหาอะไรมาถวายด้วยทรัพย์กหาปณะหนึ่ง ขอรับ.
    ท่านพระอุปนันทศากยบุตรถามว่า เธอบริจาคทรัพย์กหาปณะหนึ่งแก่เรา แล้วหรือ?
    บุ. ขอรับ ผมบริจาคแล้ว.
    อุ. เธอจงให้กหาปณะนั้นแหละแก่เรา.
    บุรุษนั้นได้ถวายกหาปณะแก่ท่านพระอุปนันทศากยบุตร ในทันใดนั้นเอง แล้วเพ่งโทษติเตียน โพนทะนาว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ รับรูปิยะเหมือนพวกเรา...”
    (พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ 2 หน้าที่ 108 -112วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาคที่2 ข้อที่105 -112 )
    ในที่นี้ เข้าใจว่า 1.บุรุษนี้มีศรัทธาในการถวายอาหารมากกว่าการถวายทรัพย์
    2.ทรัพย์ ย่อมเป็นที่รักของผู้เป็นเจ้าของ ทั้งๆที่มีการปวารณาแล้ว ยังเกิดความตระหนี่ในทรัพย์ เพ่งโทษ กับพระเถระ
    ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ พระวินัยข้อนี้ เข้าใจว่า ชนทั่วไป ความศรัทธาของการถวายทานที่เป็นเงิน ทอง วัตถุมีค่า อาจก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตกาลได้
    แต่ …….
    อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปุปผวรรคที่ 4
    กล่าวถึงนางงวิสาขา ในการตีราคา เครื่องประดับมหาลดาประสาธน์ ในคราวที่นางวิสาขา ไปฟังธรรมกับพระพุทธเจ้า แล้วถอดเครื่องประดับ วางไว้สาวใช้ลืมเก็บเครื่องประดับนี้ เมื่อนางวิสาขาต้องการนำเครื่องประดับมาใช้ สาวใช้จึงนึกได้ว่าลืมไว้ที่วัด นางกล่าวดังนี้”....ถ้ากระนั้นจงไปเอามา แต่ถ้าพระผู้เป็นเจ้าอานนทเถระของเรา ยกเก็บเอาไว้ในที่อื่น, เจ้าอย่าเอามา, ฉันบริจาคเครื่องประดับนั้น ถวายพระผู้เป็นเจ้านั้นแล..."และ “นางวิสาขา จึงให้ค่าเครื่องประดับนั้นเสียเองทีเดียว แล้วให้ขนทรัพย์ ๙ โกฏิ ๑ แสน ขึ้นใส่เกวียน นำไปสู่วิหาร ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว กราบทูลว่า "พระเจ้าข้า พระอานนท์เถระผู้เป็นเจ้าของหม่อมฉัน เอามือถูกต้องเครื่องประดับของหม่อมฉันแล้ว, จำเดิมแต่กาลที่ท่านถูกต้องแล้ว หม่อมฉันไม่อาจประดับได้, แต่หม่อมฉันให้ขายเครื่องประดับนั้น ด้วยคิดว่า ‘จักจำหน่าย น้อมนำเอาสิ่งอันเป็นกัปปิยะมา’ ไม่เห็นผู้อื่นจะสามารถรับไว้ได้ จึงให้รับค่าเครื่องประดับนั้นเสียเองมาแล้ว, หม่อมฉันจะน้อมเข้าในปัจจัยไหน ในปัจจัย ๔ พระเจ้าข้า?"
    พระศาสดา ตรัสว่า "เธอควรจะทำที่อยู่เพื่อสงฆ์ ใกล้ประตูด้านปราจีนทิศเถิด วิสาขา." นางวิสาขาทูลรับว่า "สมควร พระเจ้าข้า" มีใจเบิกบาน จึงเอาทรัพย์ ๙ โกฏิ ซื้อเฉพาะที่ดิน. นางเริ่มสร้างวิหารด้วยทรัพย์ ๙ โกฏินอกนี้.
    ดังนั้น จึงขอสรุปตามความเข้าใจ ดังนี้
    1. พระวินัยไม่ได้ห้ามโยมถวายทอง-เงิน เช่นเดียวกับพระคุณเจ้า
    ทานที่ให้มีผลดี เป็นข้อแรกของสัมมาทิฏฐิ (เว้นวัตถุทานต้องห้ามทั้ง5)
    **พึงรับด้วยจิตอนุเคราะห์ ด้วยความเคารพ ด้วยรักษาศรัทธา
    2. ปัจจุบัน วิถีชีวิตของชาวเมืองเปลี่ยนไปจากวิถีชีวิตเกษตรกรรม มาเป็นยุค อุตสาหกรรม เทคโนโลยี
    ในยุคสังคมเกษตรกรรม วิถีชีวิตในยุคนั้นมีการเอื้อเฟื้อ ในแต่ละครอบครัวมีการแลกเปลี่ยนด้วยการนำสินค้าด้านการเกษตร วัดในสังคมเกษตรกรรม ถูกสร้างมาด้วยความเอื้อเฟื้อของชุมชน เช่น เสาโบสถ์หรือศาลา อาจจะมีการ “ขอ” ไม้ จากไร่นาเรือสวน ภัตตาหาร ได้มาจากผลิตผลทางการเกษตร ผิดกับปัจจุบัน ที่วิถีชีวิต เปลี่ยนไป “เงิน” เป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้ มากขึ้นเพื่อความสะดวก จึงเป็นเหตุที่ สาธุชนที่ศรัทธา น้อมนำ”เงิน “ มาเป็นถวาย เป็นิธีการที่ง่ายขึ้น
    น้อมกราบด้วยความเคารพ





    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. araya: "ทรัพย์ ย่อมเป็นที่รักของผู้เป็นเจ้าของ ทั้งๆที่มีการปวารณาแล้ว ยังเกิดความตระหนี่ในทรัพย์ เพ่งโทษ กับพระเถระ"
      อย่าได้กล่าวเช่นนั้น อย่าได้กล่าวเช่นนั้น หากมีคฤหัสถ์ถวายหนังสือโป๊ แล้วพระภิกษุรับไว้ คฤหัสถ์นั้นก็พึงเพ่งโทษ เพราะอะไร ไม่ใช่เพราะตระหนี่ในทรัพย์ แต่เพราะพระคุณเจ้ารับของที่ไม่สมควรกับเพศบรรพชืตต่างหากเล่า

      ลบ
    2. ส่วนเรื่องนางวิสาขา นั้นมีกล่าวไว้ในสิกขาบทเรื่องการเก็บรตนะ (สุทธปาจิตตีย์) ซึ่งเป็นคนละข้อกับการรับเงินและทอง (นิสสัคคียปาจิตตีย์) อย่างไรก็ดี การเก็บเงิน ทอง หรือ รัตนะ เพราะตั้งใจเก็บไว้ให้โยมที่ลืมไว้ที่วัด พระพุทธเจ้าไม่ปรับอาบัติ
      อนาปัตติวาร (วาระที่ไม่ต้องอาบัติ): "ทองเงินตกอยู่ภายในวัดก็ดี ภายในที่อยู่ก็ดี, ภิกษุหยิบยกเองก็ดี ใช้ให้หยิบยกก็ดี, แล้วเก็บไว้ด้วยตั้งใจว่า เป็นของผู้ใด, ผู้นั้นจักนำไป"
      http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=02&A=2567&Z=2684
      "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เก็บ หรือใช้ให้เก็บ
      ซึ่งรัตนะก็ดี ซึ่งของที่สมมติว่ารัตนะก็ดี ในวัดที่อยู่ แล้วรักษาไว้ ด้วยหมายว่า ของผู้ใด ผู้นั้น
      จะได้นำไป."
      http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=2&item=739&items=1&preline=0&pagebreak=0&mode=bracket

      ลบ
    3. araya: อาจจะมีการ “ขอ” ไม้ จากไร่นาเรือสวน ภัตตาหาร ได้มาจากผลิตผลทางการเกษตร
      -----
      หากขอกับโยมที่ไม่ใช่ญาติ ไม่ได้ปวารณา และไม่มีเหตุจำเป็นที่พระพุทธเจ้าทรงยกเว้นให้ ก็ย่อมต้องอาบัติ.
      -----
      araya: นำ”เงิน “ มาเป็นถวาย เป็นิธีการที่ง่ายขึ้น
      -----
      ความสะดวกไม่ใช่เหตุที่ทำให้ไม่ต้องอาบัติ. การรักษาพระธรรมวินัยมิใช่เรื่องง่าย หากจะเอาความสะดวกสบายเป็นสำคัญ ถือเพศฆราวาสไม่ดีกว่าหรือ?

      ลบ
  3. ท่าน ปียสีล กราบน้อมรับในความคิดเห็นของท่าน ในส่วนที่คิดจะถวาย หนังสือที่ไม่เหมาะสม โยมไม่ควรคิดการนี้ตั้งแต่แรก ทั้งควรจะทราบว่า สิ่งที่ควรถวายเหมาะสมหรือไม่ ขอตอบเพียงแค่นี้ ขอให้เปรียบเทียบ "จิต" ภายใน "จิต" ของท่านทานบดี ทั้งสองท่าน ผู้ที่เป็นปฐมต้นบัญญัติ และผู้ที่มีจิตเลื่อมใส น้อมกราบเคารพ ในความคิดเห็น ของทุกท่าน

    ตอบลบ
  4. ผมไม่รู้ลึกซึ้งอะไรมากหรอกครับผมเป็นคนทำงานไม่มีเวลาคิดละเอียดอะไรขนาดนั้นนานๆทีจะทำบุญสักครั้งมีแค่เงินติดตัวแค่นั้นและตั้งใจถวายและเงินทองเราไม่ปล้นเขามาทำถือว่าเป็นทานบริสุทธิ์ให้แล้วพระจะเอาไปทำอะไรมันเรื่องของท่านเราตั้งใจให้แล้วถ้าท่านไม่รับถือว่าทำลายศรัทธาเราทำให้เราลำบากในการให้ทานและเลือกรับของถวายถือว่าไม่ถูกต้องนะครับและของทิ่เราให้ก็ไม่ใช่ของทิ่ขัดหลักธรรมผมว่าท่านไม่เห็นด้วยคงคิดผิดหลักอะไรไปหรือเปล่าหลวงตาบัวขอรับบริจาคทองคำยังไม่เห็นมีใครไปว่าอะไรวัดทั้งประเทศยังบอกบุญขอรับปัจจัยสร้างวัดสร้างโบสถ์กันและเราใส่ซองทำบุญกันถือเป็นการช่วยกันรักษาสืบทอดศาสนาคิดกันตรงนี้ด้วยนะครับ
    ถ้าท่านไม่รับเงินทองช่วยบอกด้วยครับผมไม่มีเวลาหาซื้อกับข้าวจะถวายผมขอผ่านท่านไปทำกับท่านอื่นทิ่ไมไม่เลือกรับของถวายทานครับ

    ตอบลบ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.